เทคนิควางแผนลดหย่อนภาษีปี 2567 ที่เหล่ามนุษย์เงินเดือนต้องรู้
การเสียภาษีบุคคลธรรมดาเป็นหน้าที่ของคนไทยที่มีรายได้ทุกคน แต่ถึงอย่างนั้นการเสียภาษีก็ยังมีข้อยกเว้นหรือเงื่อนไขบางอย่างที่ช่วยลดภาระภาษีที่คุณจะต้องจ่ายลง ซึ่งการวางแผนลดหย่อนภาษีเป็นวิธีหนึ่งที่คุณจะสามารถจ่ายภาษีน้อยลงแบบถูกกฎหมาย ช่วยให้คุณสามารถมีเงินเก็บเพิ่มขึ้น หรือนำเงินไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้ด้วย ใครที่กำลังมองหาวิธีลดหย่อนภาษี สามารถทำอย่างไรได้บ้าง? ในบทความนี้มีเทคนิคดีๆ ที่ช่วยลดหย่อนภาษีได้จริง!
สารบัญบทความ
- เช็กเลย! รายได้รวมเท่าไหร่ถึงจะเสียภาษี
- เริ่มต้นวางแผนลดหย่อนภาษีด้วยรายการต่างๆ รู้ไว้มีแต่คุ้มกับคุ้ม
- รายการลดหย่อนภาษีขั้นพื้นฐาน
- รายการลดหย่อนภาษีกลุ่มประกัน เงินออม และการลงทุน
- รายการลดหย่อนภาษีกลุ่มเงินบริจาค
- ขั้นตอนวางแผนลดหย่อนภาษี ทำตามนี้ประหยัดค่าภาษีได้แน่นอน
- รู้เงินได้ทั้งหมดของตนเอง
- รู้สิทธิขั้นพื้นฐานการลดหย่อนภาษี
- วางแผนชีวิตด้วยการออมและลงทุน
- เริ่มต้นวางแผนทำประกันลดหย่อนภาษี กับ MAKE by KBank
- วางแผนลดหย่อนภาษีอย่างคุ้มค่าทำได้ตั้งแต่วันนี้
เช็กเลย! รายได้รวมเท่าไหร่ถึงจะเสียภาษี?
ถึงแม้ว่าการเสียภาษีจะเป็นหน้าที่ของผู้มีรายได้ทุกคน แต่หากมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนดไว้ก็จะได้รับการยกเว้นภาษี ไปดูกันว่าสุดท้ายเงินเดือนเท่าไหร่เสียภาษี แล้วต้องเสียภาษีเท่าไรบ้าง?
วิธีคำนวณภาษีที่จะต้องจ่ายนั้นจะอยู่ในรูปแบบขั้นบันได ยกตัวอย่างเช่น หากคุณมีรายได้สุทธิ 400,000 บาท คุณจะต้องเสียภาษีถึง 3 ขั้น
- ขั้นแรก ช่วง 0-150,000 บาทแรก ได้รับการยกเว้นภาษี
- ขั้นที่ 2 ช่วง 150,001-300,000 บาท หรือส่วนที่เกินมาจากขั้นที่ 1 ไป 150,000 บาทจะถูกคิดภาษีในอัตรา 5% = 150,000 x 5% = 7,500 บาท
- ขั้นที่ 3 ช่วง 300,001-400,000 บาท หรือส่วนที่เกินมาจากขั้นที่ 2 ไป 100,000 บาทจะถูกคิดภาษีในอัตรา 10% = 100,000 x 10% = 10,000 บาท
ดังนั้น คุณจะต้องจ่ายภาษีทั้งหมด 3 ขั้น = 0 + 7,500 + 10,000 = 17,500 บาท
แต่หากคุณสามารถวางแผนลดหย่อนภาษีเป็นอย่างดี ก็จะช่วยลดหย่อนภาษีเงินได้ที่ต้องจ่ายไปได้มาก จากที่ต้องจ่ายหลักหมื่นอาจเหลือหลักพัน หรือลดมาจนถึงขั้นแรก ได้รับการยกเว้นภาษีเลยก็ได้
เริ่มต้นวางแผนลดหย่อนภาษีด้วยรายการต่างๆ รู้ไว้มีแต่คุ้มกับคุ้ม!
ก่อนจะคิดภาษีจากรายได้ประจำปีของคุณ แนะนำให้ทำความรู้จักเกี่ยวกับค่าลดหย่อนรูปแบบต่างๆ ที่สามารถช่วยลดเงินได้สุทธิของเรา หากมีการวางแผนลดหย่อนภาษีดีๆ จะทำให้จำนวนรายได้ที่เราจะนำไปคำนวณภาษีลดลงนั่นเอง ซึ่งรายการลดหย่อนภาษีนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ดังนี้
รายการลดหย่อนภาษีขั้นพื้นฐาน
รายการลดหย่อนภาษีขั้นพื้นฐานเป็นสิทธิของผู้มีรายได้ทุกคนที่ไม่ต้องวางแผนลดหย่อนภาษีก็สามารถใช้ได้ หากคุณมีคุณสมบัติตามข้อกำหนด โดยรายการลดหย่อนภาษีขั้นพื้นฐานมีดังนี้
- ลดหย่อนส่วนตัว = 60,000 บาท
- ลดหย่อนคู่สมรส (ที่ไม่มีเงินได้) = 60,000 บาท
- ลดหย่อนค่าอุปการะพ่อแม่ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) = คนละ 30,000 บาท
- ลดหย่อนบุตรคนที่ 2 และเกิดในปี 2561 เป็นต้นไป = คนละ 60,000 บาท
- ลดหย่อนบุตรที่อยู่ในวัยเรียน และมีอายุไม่เกิน 25 ปี = คนละ 30,000 บาท
- ลดหย่อนค่าฝากครรภ์หรือคลอดบุตร = ไม่เกิน 60,000 บาท
- ลดหย่อนค่าอุปการะผู้พิการหรือทุพพลภาพ = คนละ 60,000 บาท
รายการลดหย่อนภาษีกลุ่มประกัน เงินออม และการลงทุน
รายการลดหย่อนภาษีกลุ่มนี้เป็นสิทธิ์สำหรับผู้ที่ทำประกันและลงทุนตามข้อกำหนด ผู้ที่มีรายได้ถึงขั้นต้องเสียภาษีต้องไม่พลาดที่จะรู้จักวางแผนลดหย่อนภาษีด้วยรายการกลุ่มนี้ นอกจากจะช่วยลดหย่อนภาษีได้แล้วยังช่วยให้คุณสามารถออมเงินระยะยาวได้อีกด้วย
- ลดหย่อนประกันสังคม ตามจริงไม่เกิน 9,000 บาท
- ลดหย่อนประกันสุขภาพ ตามจริงไม่เกิน 25,000 บาท เมื่อรวมกับประกันชีวิตและประกันสะสมทรัพย์ จะต้องไม่เกิน 100,000 บาท
- ลดหย่อนประกันสุขภาพพ่อแม่ ตามจริงไม่เกิน 15,000 บาท
- ลดหย่อนประกันชีวิตคู่สมรสที่ไม่มีรายได้ ตามจริงไม่เกิน 10,000 บาท
- ลดหย่อนประกันชีวิตแบบบำนาญ ไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 200,000 บาท
- ลดหย่อนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไม่เกิน 15% ของค่าจ้างและไม่เกิน 500,000 บาท
- ลดหย่อนเงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ ตามจริงไม่เกิน 30,000 บาท
- ลดหย่อนเงินสะสมกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการและกองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน ไม่เกิน 500,000 บาท
- ลดหย่อนค่าซื้อกองทุน RMF ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 500,000 บาท
- ลดหย่อนค่าซื้อกองทุน SSF ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 200,000 บาท
- ลดหย่อนดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ไม่เกิน 100,000 บาท
รายการลดหย่อนภาษีกลุ่มเงินบริจาค
รายการลดหย่อนภาษีกลุ่มเงินบริจาคเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ช่วยให้คุณวางแผนลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งรายการลดหย่อนกลุ่มนี้มีอะไรบ้าง?
- ลดหย่อนเงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา กีฬา การพัฒนาสังคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ และบริจาคเพื่อสถานพยาบาลของรัฐ ได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อนภาษีอื่นๆ แล้ว
- ลดหย่อนเงินบริจาคทั่วไป ตามจริงไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อนภาษีอื่นๆ แล้ว
- ลดหย่อนเงินบริจาคพรรคการเมือง ตามจริงไม่เกิน 10,000 บาท
ขั้นตอนวางแผนลดหย่อนภาษี ทำตามนี้ประหยัดค่าภาษีได้แน่นอน
การวางแผนลดหย่อนภาษีที่ดีจะช่วยให้คุณมีเงินออมมากขึ้นได้จริง ในหัวข้อนี้จะมาแนะนำขั้นตอนการวางแผนลดหย่อนภาษีทำอย่างไรให้ลดภาษีอย่างคุ้มค่า
1. รู้เงินได้ทั้งหมดของตนเอง
อันดับแรกเลยที่ผู้มีรายได้จะต้องทราบ คือรายได้ทั้งหมดของตนเองตลอดทั้งปี สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่มีเงินได้ทางเดียวก็สามารถนำยอดจากตรงนั้นมาเริ่มคำนวณได้เลย แต่สำหรับผู้ที่มีรายได้เสริมจากช่องทางอื่น รวมถึงกำไรที่ได้จากหุ้น หรืออื่นๆ ก็อย่าลืมที่จะรวบรวมให้ครบด้วย เพื่อที่จะสามารถคำนวณภาษีเงินได้ครบถ้วน ไม่เสี่ยงเสียภาษีย้อนหลังที่อาจทำให้คุณเสียสภาพคล่องทางการเงินไปได้
2. รู้สิทธิขั้นพื้นฐานการลดหย่อนภาษี
เมื่อรู้แล้วว่าตนเองมีรายได้ตลอดทั้งปีเท่าไร ก่อนจะนำยอดเงินจำนวนนั้นไปคำนวณภาษี ให้นำค่าลดหย่อนมาหักลบเสียก่อน เช่น ใน 1 ปีคุณมีรายได้ 400,000 บาท แต่คุณมีพ่อแม่อายุ 65 ปี และมีคู่สมรสที่ไม่มีรายได้ ก็จะสามารถลดหย่อนภาษีได้ ดังนี้
- หักลดหย่อนส่วนตัว = 60,000 บาท
- พ่ออายุ 65 ปี = 30,000 บาท
- แม่อายุ 65 ปี = 30,000 บาท
- คู่สมรสที่ไม่มีรายได้ = 60,000 บาท
สรุปรายได้สุทธิของคุณจะอยู่ที่ = 400,000 - (60,000 + 30,000 + 30,000 + 60,000) = 220,000 บาท
จะเห็นได้ว่า จากเดิมที่รายได้อยู่ที่ 400,000 บาท หากนำยอดนี้ไปคำนวณภาษี คุณจะต้องเสียภาษีถึง 3 ขั้น แต่ถ้าลดหย่อนภาษีแล้วจนเหลือรายได้สุทธิเพียง 220,000 บาท คุณจะเสียภาษีแค่ 2 ขั้นเท่านั้น
3. วางแผนชีวิตด้วยการออมและลงทุน
การวางแผนลดหย่อนภาษียังไม่จบแต่เพียงเท่านี้ คุณสามารถที่จะลงทุนหรือทำประกันลดหย่อนภาษีเพิ่มได้อีกตามอัตราที่กำหนด นอกจากนี้ยังช่วยให้ชีวิตของคุณมั่งคงยิ่งขึ้นอีกด้วย
ยกตัวอย่างเช่น รายได้สุทธิเดิมที่หักลดหย่อนขั้นพื้นฐานไปแล้วอยู่ที่ 220,000 บาท แต่คุณเป็นพนักงานประจำที่จ่ายเงินสมทบประกันสังคม และทำประกันสุขภาพกับประกันชีวิตของตนเองเบี้ยรวมทุกกรมธรรม์อยู่ที่ 30,000 บาท ก็จะสามารถลดหย่อนภาษีเพิ่มได้ ดังนี้
- ลดหย่อนเงินสมทบประกันสังคม = 9,000 บาท
- ลดหย่อนค่าประกันสุขภาพและประกันชีวิต = 30,000 บาท
สรุป รายได้สุทธิของคุณจะอยู่ที่ = 220,000 - (9,000 + 30,000) = 181,000 บาท
จะเห็นได้ว่ารายได้สุทธิเดิมอยู่ที่ 220,000 บาท และยอดภาษีที่ต้องจ่ายคือ 3,500 บาท เมื่อทำการขอลดหย่อนภาษีส่วนของประกันไปจะเหลือรายได้สุทธิเพียง 181,000 บาท หรือจ่ายภาษีเพียง 1,550 บาทเท่านั้น
เริ่มต้นวางแผนทำประกันลดหย่อนภาษี กับ MAKE by KBank
เริ่มต้นวางแผนลดหย่อนภาษีอย่างคุ้มค่าด้วยการวางแผนทำประกันชีวิตสะสมทรัพย์ ลดหย่อนภาษี อย่างประกันชีวิตออมสั้น คืนไว 11/3 จ่ายเบี้ยเพียงแค่ 3 ปี คุ้มครองยาวถึง 11 ปี การันตีได้เงินคืนทุกปี ปีละ 3%*
ซื้อประกัน 11/3 สะดวกยิ่งขึ้นที่ MAKE by KBank เก็บเงินชำระเบี้ยง่ายกว่าที่เคยด้วยฟีเจอร์ Cloud Pocket แบ่งเงินเป็นกระเป๋า โดยไม่ต้องกังวลว่าจะค่าใช้จ่ายจะปะปนกัน ออมเงินเพื่อชำระเบี้ยประกัน แล้วนำไปลดหย่อนภาษีส่วนของเบี้ยประกันชีวิตได้เต็มจำนวนสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท อีกทั้งยังช่วยให้คุณไม่ลืมเก็บเงินเพื่อชำระค่าเบี้ยประกันด้วยฟีเจอร์ Schedule Transfer ตั้งโอนได้ล่วงหน้าจาก Cashbox สู่ Cloud Pocket ทันที
หมายเหตุ : *เป็น % ของจำนวนเงินเอาประกันภัย
วางแผนลดหย่อนภาษีอย่างคุ้มค่าทำได้ตั้งแต่วันนี้
ถึงแม้ว่าการจ่ายภาษีจะเป็นหน้าที่ของผู้มีรายได้ทุกคน แต่หากมีวิธีลดภาษีลงได้ก็จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายอย่างค่าภาษีไปได้ไม่น้อย ได้เงินคืนภาษี มีเงินเก็บออมเพิ่มขึ้น และสามารถนำเงินไปต่อยอดหรือใช้ประโยชน์อื่นได้อีกมากมาย เริ่มวางแผนออมเงินซื้อประกันเพื่อลดหย่อนภาษีกับ Make by Kbank แอปพลิเคชั่นโมบายล์แบงก์กิ้งสำหรับทุกคน ช่วยให้คุณสามารถจัดสรรเงินได้เป็นสัดส่วนและมีประสิทธิภาพ ไม่เผลอนำเงินเก็บไปใช้ได้ง่ายๆ อย่างแน่นอน